การเขียนโปรแกรมตรวจสอบเลขคู่และคี่ ในภาษา C, C++ และ Python

22 September 2022

ในบทความนี้ คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจสอบตัวเลขว่าเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคู่ในภาษา C, C++ และ Python นี่เป็นเนื้อหาในบทนี้

  • เลขคู่และเลขคี่คืออะไร
  • การเขียนโปรแกรมตรวจสอบเลขคู่และคี่
  • การเขียนโปรแกรมแสดงเลขคู่หรือคี่จาก 1-n
  • การเขียนโปรแกรมแสดงตารางหมากรุก

เลขคู่และเลขคี่คืออะไร

เลขคู่ (Even number) คือตัวเลขที่สามารถหารด้วยสองได้ลงตัว ในขณะที่เลขคี่ (Odd number) คือตัวเลขที่หารด้วยสองไม่ลงตัวหรือเหลือเศษ ในการตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่นั้นสามารถนำตัวเลขไปหารด้วยสองแล้วดูว่าหารลงตัวหรือเหลือเศษหรือไม่นั่นเอง และในการเขียนโปรแกรมสามารถใช้ตัวดำเนินการ % (Modulo) สำหรับหาเศษของการหารได้ นี่เป็นตัวอย่าง

  • 5/2 เท่ากับ 2 เศษ 1 ดังนั้น 5 เป็นเลขคี่
  • 8/2 เท่ากับ 4 เศษ 0 ดังนั้น 4 เป็นเลขคู่

การเขียนโปรแกรมตรวจสอบเลขคู่และคี่

นี่เป็นตัวอย่างแรกของเรา มาเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่โดยรับค่าตัวเลขดังกล่าวมาจากทางคีย์บอร์ดและแสดงผลลัพธ์ออกทางหน้าจอ ตัวอย่างจะเขียนใน 3 ภาษาได้แก่ภาษา C, C++ และ Python

odd_or_even.c
#include <stdio.h>

int main()
{
    int n;
    printf("Enter a number: ");
    scanf("%d", &n);

    if (n % 2 == 0) {
        printf("%d is an even number", n);
    } else {
        printf("%d is an odd number", n);
    }

    return 0;
}
odd_or_even.cpp
#include <iostream>

using namespace std;

int main()
{
    int n;
    cout << "Enter a number: ";
    cin >> n;

    if (n % 2 == 0) {
        cout << n << " is an even number" << endl;
    } else {
        cout << n << " is an odd number" << endl;
    }

    return 0;
}
odd_or_even.py
n = int(input("Enter a number: "))

if n % 2 == 0:
    print("%d is an even number" % n)
else:
    print("%d is an odd number" % n)

นี่เป็นผลลัพธ์การทำงานของโปรแกรม เมื่อกรอกตัวเลขเป็น 4 และ 9 ตามลำดับ

Enter a number: 4
4 is an even number
Enter a number: 9
9 is an odd number

ในตัวอย่างนี้ เป็นโปรแกรมอย่างง่ายสำหรับตรวจสอบว่าตัวเลขจำนวนเต็มที่รับมาจากคีย์บอร์ดนั้นเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่ และแสดงผลเพื่อบอกประเภทของตัวเลขตามที่ตรวจสอบได้ ต่อไปเป็นการอธิบายการทำงานของโปรแกรมทีละขั้นตอน

int n;
printf("Enter a number: ");
scanf("%d", &n);

ส่วนแรกของโปรแกรมเป็นการประกาศตัวแปร n สำหรับเก็บตัวเลขเพื่อนำมาตรวจสอบ จากนั้นรับค่าตัวเลขจากทางคีย์บอร์ดมาเก็บไว้ในตัวแปรด้วยฟังก์ชันรับค่าของภาษา

if (n % 2 == 0) {
    printf("%d is an even number", n);
} else {
    printf("%d is an odd number", n);
}

ในการตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นเลขคู่หรือคี่ นำตัวเลขไปหารเอาเศษด้วยตัวดำเนินการ % ในกรณีที่ผลหารมีค่าเท่ากับ 0 หมายความว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามันเป็นจำนวนคี่แทน และแสดงผลที่ตรวจสอบได้ออกทางหน้าจอ

นี่ก็เป็นวิธีเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่หรือคี่ในภาษา C, C++ และ Python ตอนนี้คุณสามารถนำมันไปประยุกต์ใช้และฝึกฝนการเขียนโปรแกรมในขั้นสูงขึ้นไปได้

การเขียนโปรแกรมแสดงเลขคู่หรือคี่จาก 1-n

หลังจากที่ทราบวิธีเขียนเงื่อนเพื่อตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่ไปแล้ว ต่อไปเรามาเขียนโปรแกรมเพื่อแสดงจำนวนคู่จาก 1-n กันโดย n นั้นเป็นค่าที่จะรับเข้ามาจากทางคีย์บอร์ด นี่เป็นตัวอย่างของโปรแกรม

searching_even.c
#include <stdio.h>

int main()
{
    int n;
    printf("Enter a number: ");
    scanf("%d", &n);

    printf("Even numbers from 1 to %d:\n", n);

    int i;
    for (i = 1; i <= n; i++) {
        if (i % 2 == 0) {
            printf("%d, ", i);
        }
    }

    return 0;
}
searching_even.cpp
#include <iostream>

using namespace std;

int main()
{
    int n;
    cout << "Enter a number: ";
    cin >> n;

    cout << "Even numbers from 1 to " << n << endl;

    int i;
    for (i = 1; i <= n; i++) {
        if (i % 2 == 0) {
            cout << i << ", ";
        }
    }

    return 0;
}
searching_even.py
n = int(input("Enter a number: "))

if n % 2 == 0:
    print("%d is an even number" % n)
else:
    print("%d is an odd number" % n)

print("Even numbers from 1 to %d", n)

for i in range(1, n + 1):
    if i % 2 == 0:
        print("%d" % i, end=", ")

นี่เป็นผลลัพธ์การทำงานของโปรแกรม เมื่อกรอกตัวเลขเป็น 100

Enter a number: 100
Even numbers from 1 to 100:
2, 4, 6, 8, 10, 12, 14, 16, 18, 20, 22, 24, 26, 28, 30, 32, 34, 36, 38, 40, 42,
44, 46, 48, 50, 52, 54, 56, 58, 60, 62, 64, 66, 68, 70, 72, 74, 76, 78, 80, 82,
84, 86, 88, 90, 92, 94, 96, 98, 100,

ในตัวอย่างนี้ เป็นโปรแกรมสำหรับค้นหาและแสดงตัวเลขจำนวนคู่จาก 1-n ซึ่งเป็นค่าที่รับมาจากคีย์บอร์ด และนี่เป็นวิธีการทำงานของโปรแกรม

int n;
printf("Enter a number: ");
scanf("%d", &n);

ส่วนแรกเป็นการประกาศตัวแปรเพื่อเก็บตัวเลขที่ต้องการค้นหาไปจนถึงค่าในตัวแปรนี้ จากนั้นใช้ฟังก์ชันรับค่าของภาษาเพื่อรับตัวเลขมาเก็บไว้ในตัวแปร

int i;
for (i = 1; i <= n; i++) {
    if (i % 2 == 0) {
        printf("%d, ", i);
    }
}

นี่เป็นการใช้คำสั่ง for loop เพื่อสร้างลูปของตัวเลขจาก 1-n ในแต่ละรอบของลูปเราได้ตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่หรือไม่ ถ้าหากใช่เราแสดงตัวเลขดังกล่าวออกทางหน้าจอ และหากไม่ใช้ข้ามการทำงานไป

ในทางกลับกัน หากคุณต้องการให้โปรแกรมค้นหาและแสดงเลขคี่ คุณสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขโดยตรวจสอบว่าเศษของการหารต้องมีค่าไม่เท่ากับ 0 ยกตัวอย่างเช่น

if (i % 2 != 0) {
    printf("%d, ", i);
}

การเขียนโปรแกรมแสดงตารางหมากรุก

ในตัวอย่างที่ผ่านมาคุณได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมสำหรับตรวจสอบเลขคู่และเลขคี่ในพื้นฐานไปแล้ว ในตัวอย่างนี้เราจะนำมันมาประยุุกต์ใช้โดยเขียนโปรแกรมเพื่อแสดงตารางหมากรุก 8*8 แทน นี่เป็นตัวอย่างของโปรแกรม

chess_table.c
#include <stdio.h>

int main()
{
    printf("MarcusCode's Chess Table\n");

    int i, j;
    for (i = 0; i < 8; i++) {
        for (j = 0; j < 8; j++) {
            if ((i + j) % 2 == 0) {
                printf("#");
            } else {
                printf(" ");
            }
        }
        printf("\n");
    }

    return 0;
}
chess_table.cpp
#include <iostream>

using namespace std;

int main()
{
    cout << "MarcusCode's Chess Table" << endl;

    for (int i = 0; i < 8; i++) {
        for (int j = 0; j < 8; j++) {
            if ((i + j) % 2 == 0) {
                cout << "#";
            } else {
                cout << " ";
            }
        }
        cout << endl;
    }

    return 0;
}
chess_table.py
print("MarcusCode's Chess Table")

for i in range(0, 8):
    for j in range(0, 8):
        if (i + j) % 2 == 0:
            print("#", end="")
        else:
            print(" ", end="")
    print()

นี่เป็นผลลัพธ์การทำงานของโปรแกรม

MarcusCode's Chess Table
# # # #
 # # # #
# # # #
 # # # #
# # # #
 # # # #
# # # #
 # # # #

ในตัวอย่างนี้เป็นโปรแกรมสำหรับแสดงตารางหมากรุกขนาด 8*8 โดยการใช้การตรวจสอบเลขคู่เลขคี่เพื่อสร้างเงื่อนไขในการแสดงตัวอักษรออกทางหน้าจอ นี่เป็นการทำงานของโปรแกรม

for (i = 0; i < 8; i++) {
    for (j = 0; j < 8; j++) {
        ...
    }
    printf("\n");
}

นี่เป็นการใช้คำสั่ง for loop เพื่อวนสร้างตารางขนาด 8*8 โดยลูปรอบนอกสำหรับสร้างแถวและลูปด้านในสำหรับสร้างคอลัมน์ของตาราง

if ((i + j) % 2 == 0) {
    printf("#");
} else {
    printf(" ");
}

ในลูปด้านในที่คอบคุมการแสดงผลของตัวอักในแต่ละหลัก เราใช้ค่าจากตัวแปร i และ j ซึ่งเป็นหมายเลขของแถวและหลักบวกกันและนำมาหารเอาเศษด้วยสอง ในกรณีที่เป็นเลขคู่เราแสดงเครื่องหมาย # และกรณีที่ไม่ใช่เราแสดงช่องว่างแทน

ในบทเรียนนี้ คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจสอบว่าตัวเลขเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่ในภาษา C, C++ และ Python ซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่นักเขียนโปรแกรมมือใหม่ควรจะฝึกเขียนและทำความเข้าใจกับมันสำหรับแก้ปัญหาในขั้นสูงต่อไป

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?Yes·No